ผู้สูงอายุหมายถึงผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในวัยนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน ทั้งทางร่างกาย ทางสมอง ทางอารมณ์และทางสังคม จึงเป็นวัยที่คนส่วนมากกลัว ดังนั้นการได้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังกล่าวก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุได้ปรับตัวได้ดียิ่งขึ้นรวมทั้งบุตรหลานหรือผู้ใกล้ชิดมีส่วนสำคัญมากในการช่วยให้ท่านปรับตัวได้อย่างมีความสุข
การเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆของผู้สูงอายุ
การเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย
เริ่มอ่อนแอลงและเชื่องช้า ร่างกายเสื่อมโทรม บางรายมือเท้าสั่นการทรงตัวไม่ดี ปรับตัวกับสภาพดินฟ้าอากาศได้ยาก ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
การเปลี่ยนแปลงทางด้านสมอง
หลงลืมง่าย ความจำไม่ดี แต่เหตุผลและความสุขุมรอบคอบอาจจะยังคงที่
การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์
อารมณ์ไม่คงที่ อ่อนไหวง่าย มักเอาแต่ใจตัวเอง โกรธง่าย ชอบบ่น แต่บางรายใจดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจในครอบครัวด้วย
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
ส่วนมากก็มักจะฝากจิตใจไว้กับวัดและยึดศาสนาเป็นที่พึ่ง บางรายอาจต้องหาเลี้ยงชีพอยู่หรือเลี้ยงดูลูกหลานในบ้าน จึงกลายเป็นที่พึ่งและเพื่อนเล่นของลูกๆหลาน ซึ่งก็ช่วยให้มีความสุขเพลิดเพลิน
ปัญหาที่พบได้บ่อยในวัยนี้
- ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายไม่ค่อยดี
- ปัญหาด้านจิตใจ วิตกกังวลกลัวลูกหลานจะไม่เลี้ยงดู กลัวถูกทอดทิ้ง
- การเกษียณอายุต้องออกจากหน้าที่การงาน และไม่มีงานอดิเรกทำ ทำให้รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า หมดศักดิ์ศรี
- การสูญเสียคูชีวิต ญาติมิตร ลูกหลาน ทำให้เกิดความว้าเหว่
- การถูกทอดทิ้ง ปัจจุบันครอบครัวมักแยกอยู่อย่างอิสระจากพ่อแม่ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเดียวดาย จิตใจหดหู่ ไม่ได้รับการดูแล ขาดเพื่อนฝูง ขาดการสังสรรค์
- ผู้สูงอายุมักคิดถึงแต่เรื่องในอดีตด้วยความเสียดาย และคิดถึงปัจจุบันด้วยความหวาดกลัว และวิตกกังวลต่ออนาคต
การปรับตัวให้มีความสุขให้วัยสูงอายุ
- เตรียมใจยอมรับความรู้สึกสูญเสีย ซึ่งเป็นธรรมชาติของวัยนี้ เช่น สูญเสีย สมรรถภาพทางกาย ลูกหลานจากไปมีครอบครัว บางครั้งก็ต้องอยู่ตามลำพังคนเดียว
- ไม่ควรคิดถึงอายุซึ่งลวงเลยไป หรืออดีตด้วยความวิตกกังวล
- อย่าคิดว่าอายุทำให้คนอื่นเลิกเคารพตัวท่าน
- เมื่อมีปัญหาควรปรึกษาขอคำแนะนำจากคนอื่นบ้าง
- ไม่ควรจริงจังกับชีวิตมากนัก ดำเนินชีวิตด้วยทางสายกลาง
- ดูแลสุขภาพอนามัยให้ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีคุณค่า มีโปรตีนปานกลาง ไขมันน้อย วิตามินมาก ปริมาณต้องจำกัด
- การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยและควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอเป็นประจำทุกปี ปีละ 2 ครั้ง
- ควรมีการพักผ่อนหย่อนใจและทำงานอดิเรกเล็กๆน้อยๆเพื่อความเพลิดเพลินใจ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปวัดทำบุญศึกษาและปฏิบัติธรรม
- ในขณะที่ยังทำงานมีรายได้ก็ควรออมทรัพย์ไว้เพื่อจุนเจือใช้จ่ายในวัยสูงอายุจะได้ ไม่ลำบาก และไม่เป็นภาวะแก่ผู้อื่น จะได้พึ่งตนเองได้
- ไม่เก็บตัว แยกตัวอยู่ตามลำพังคนเดียว
- ควรร่วมวงสนทนากับเพื่อนๆและผู้อื่นที่มีอายุอ่อนกว่าจะช่วยทำให้สังคมของผู้สูงอายุกว้างมากขึ้น และยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆในสังคม ช่วยให้ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีความสุข ไม่คับข้องใจมากนัก
- การยอมรับว่าตนเองเป็นผู้สูงอายุ ประพฤติปฏิบัติตัวให้ถูกกาลละเทศะและเหมาะสม กับอายุ
- ไม่ทำตนให้เป็นที่รำคาญแก่ลูกหลานหรือผู้อื่น ไม่จู้จี้ขี้บ่น ซึ่งจะช่วยให้ผู้อื่นและ ลูกหลานรู้สึกอบอุ่นและอยากเข้ามาใกล้ชิด
- ทำจิตใจให้เบิกบานอยู่เสมอ รู้จักสร้างอารมณ์ขัน
ลูกหลานญาติพี่น้อง มีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยให้ผู้สูงอายุปรับตัวได้อย่างมีความสุขยิ่งขึ้น โดยให้เกียรติแก่ผู้สูงอายุ และช่วยให้ท่านมีความภาคภูมิใจ เช่น เวลามีปัญหาอาจไปขอคำปรึกษาจากท่าน ไม่ดูถูกเหยียดหยามท่าน ให้การเลี้ยงดูและดูแลท่าน คอยถามไถ่เวลาท่านไม่สบายพาไปหาหมอ ช่วยดูแลจนหายจากเจ็บไข้ ท่านจะได้รู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัวยังมีคนห่วงใยคอยดูแลอยู่ทำให้ท่านรู้สึกอบอุ่นใจ และสามารถที่จะต่อสู้กับชีวิตในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น
ในปัจจุบันรัฐบาลและสังคมได้ให้ความสำคัญแก่ผู้สูงอายุมาก โดยได้จัดให้วันที่ 13 เมษายน เป็น “วันผู้สูงอายุแห่งชาติ” เพื่อเป็นการตอบแทนคุณงามความดีของท่านที่ได้ทำประโยชน์ให้แก่สังคมมาช้านาน โดยการจัดตั้งสถานสงเคราะห์คนชราขึ้นตามภาคต่างๆ บริการด้านสาธารณสุข แก่ผู้สูงอายุ คือให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแก่ผู้มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปฟรีโดยไม่คิดมูลค่าและส่งเสริม ให้โรงพยาบาลต่าง ๆ จัดตั้งบริการคลินิกผู้สูงอายุขึ้น บริการตรวจสุขภาพฟรี และชุมนุมผู้สูงอายุเพื่อให้ความรู้ให้ผู้สูงอายุมีกิจกรรมร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน
จะเห็นว่าสังคมไม่เคยทอดทิ้งผู้สูงอายุเลย และเห็นความสำคัญของท่านมาก ฉะนั้นจงมีความภาคภูมิใจในความมีอายุของท่านเถิด ส่วนลูกหลานก็ควรแสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุโดยการเลี้ยงดูเอาใจใส่ดูแลท่าน ก็จะช่วยให้ท่านปรับตัวต่อปัญหาต่างๆได้อย่างมีความสุข ส่วนผู้สูงอายุก็ควรทำตนให้เป็นที่เคารพรักของลูกหลานให้ความอบอุ่นใจ ความสบายใจแก่ลูกหลานด้วยการไม่สร้างความลำบากใจให้แก่ลูกหลาน ไม่จู้จี้ขี้บ่น ไม่เรียกร้องความสนใจและความเอาใจใส่มากเกินไป พยายามช่วยเหลือตัวเองเท่าที่จะทำได้ก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุและลูกหลานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ยามใดที่ลูกหลานรู้สึกไม่พอใจผู้สูงอายุก็ลองนึกถึงกลอนบทนี้ดู ซึ่งก็คงพอจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดได้บ้าง
ขอขอบคุณ Ramamental ผู้รวบรวมและเรียบเรียง: อัญชลี จุมพฎจามีกร